ประวัติสำนักงานยุติธรรมจังหวัด

10 ต.ค. 2561 14:53 น.

 

 

ประวัติความเป็นมาของสำนักงานยุติธรรมจังหวัด

       สืบเนื่องจากสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้งขึ้นตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม พ.ศ.2545มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนายุทธศาสตร์ และแปลงนโยบายของกระทรวงยุติธรรมเป็นแผนปฏิบัติการ รวมทั้งจัดสรรทรัพยากร และบริหารราชการประจำทั่วไปของกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและเกิดผลสัมฤทธิ์ตามภารกิจของกระทรวงยุติธรรม ตลอดจนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการของกระทรวงยุติธรรม โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็นระดับกองและสำนักเฉพาะราชการบริหารส่วนกลาง ทำให้ภารกิจของสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมยังไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายและเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง เพราะไม่มีส่วนราชการรองรับในระดับภูมิภาค ในฐานะเป็นส่วนราชการผู้แทนกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เฉกเช่นกับกระทรวงอื่นๆ โดยส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อจำกัดตามมาตรการจำกัดอัตรากำลังคนภาครัฐ และการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมจึงได้แก้ปัญหาโดยการจัดตั้งสำนักงานยุติธรรมจังหวัด (สยจ.) ขึ้นเป็นหน่วยงานภายในของสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวในการบริหารจัดการงานยุติธรรม และกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด รวมทั้งดำเนินการตามระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2548 ในทุกจังหวัด (75 จังหวัด) ต่อมาได้มีการจัดตั้ง สยจ. สาขา ขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สยจ.เชียงใหม่ สาขาฝาง สยจ.ตาก สาขาแม่สอด สยจ.ยะลา สาขาเบตง สยจ. สุราษฎร์ธานี สาขาเกาะสมุย และ สยจ.สุรินทร์ สาขารัตนบุรี และล่าสุดได้จัดตั้ง สยจ.บึงกาฬ ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2554 เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2554 ดังนั้นในปัจจุบันจึงรวม สยจ. ทั้งสิ้น จำนวน 81 แห่ง

สำนักงานยุติธรรมจังหวัดนำร่อง (ปัจจุบันมี 19 จังหวัด)   

    ในปีงบประมาณ พ.ศ.2553กระทรวงยุติธรรมได้มีนโยบายให้ดำเนินการจัดตั้งสำนักงานยุติธรรมจังหวัดเป็นส่วนราชการ ตามแนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาคของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 18 กันยายน 2550 จึงได้ดำเนินการโครงการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนำร่อง 5จังหวัดประกอบด้วย เชียงใหม่ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา สุราษฏร์ธานี และปัตตานีขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ.2554โดยจัดให้มีอัตรากำลังข้าราชการไปปฏิบัติงานประจำอย่างน้อยจังหวัดละ 5อัตรา และจัดสรรงบประมาณและวัสดุครุภัณฑ์เพิ่มเติมเป็นพิเศษ ทั้งนี้เพื่อศึกษารูปแบบการทำงาน และประเมินความคุ้มค่าของการจัดตั้ง ก่อนที่จะเสนอขอจัดตั้งสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศต่อไป ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ.2555กระทรวงยุติธรรมได้มีนโยบายในการพัฒนาสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนำร่อง ต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ.2554โดยให้มีการจัดตั้งเพิ่มเติมอีก จำนวน 5จังหวัด ได้แก่ นครปฐม พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก นครราชสีมา และอุดรธานีเพื่อให้สอดคล้องตามพื้นที่ภาคในกระบวนการยุติธรรม 9 ภาค รวมทั้งให้พิจารณาดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายยุติธรรมชุมชน (คยช.)ขึ้นในระดับชุมชน/หมู่บ้าน และจัดตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชน (ศยช.) ขึ้น ตามความเหมาะสม โดยให้สำนักงานยุติธรรมจังหวัดเป็นหน่วยงานดำเนินการหลักและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เเละต่อมาจนถึงปัจจุบันมีจังหวัดนำร่องเพิ่มขึ้นอีก 9 จังหวัด ได้เเก่ เพชรบุรี ลพบุรี  เชียงราย นครสวรรค์ สงขลา ภูเก็ต ชลบุรี สกลนคร อุบลราชธานี

ในการบริหารงานยุติธรรมประจำจังหวัด บนพื้นฐานหลักการ ดังนี้

1.เป็นศูนย์รวมในการบริหารจัดการที่เป็นเอกภาพโดยนำแนวทางการบริหารแบบบูรณาการ(Integration)มาใช้อย่างเหมาะสมด้วยการปรับเปลี่ยนการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมให้มีการทำงานในลักษณะเป็นกลุ่มเดียวกันโดยนำภารกิจของทุกหน่วยงานมาบริหารร่วมกันภายใต้คณะกรรมการบริหารสำนักงานยุติธรรมจังหวัดซึ่งประธานคณะกรรมการฯจะเป็นผู้รับผิดชอบ(เจ้าภาพ)ในทุกภารกิจทำนองเดียวกับระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ(ผู้ว่าราชการจังหวัด CEO )

2.มีการกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานที่มีผลผูกพันทุกส่วนราชการในสังกัดที่จะต้องสนับสนุนบุคลากรและทรัพยากรร่วมกัน(Corporate Core)เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าประหยัดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

3.เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการแปลงยุทธศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมและกรมในสังกัดไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของประชาชนรวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการเป็นหน่วยบริการประชาชนตามแนวทางการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

4.การจัดโครงสร้างและระบบงานจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามนโยบายของรัฐบาลที่จะไม่มีการเพิ่มอัตรากำลังตั้งใหม่แต่จะใช้วิธีการเกลี่ยอัตรากำลังจากหน่วยงานต่างๆในพื้นที่หมุนเวียนมาปฏิบัติงานตามความเหมาะสมซึ่งถือเป็นการพัฒนาบุคลากรของกระทรวงยุติธรรมอีกรูปแบบหนึ่งที่จะทำให้บุคลากรมีความรู้ในภารกิจของหน่วยงานอื่นนอกเหนือจากงานประจำของตนเองและสามารถปฏิบัติงานแทนกันได้

5.ราชการส่วนกลางจะมีระบบกลไกการสนับสนุน(BackOffice)อย่างจริงจัง เช่น ระบบการติดตามประเมินผลระบบการจูงใจหรือการให้รางวัลแก่ผู้ปฏิบัติงานและระบบการพัฒนาบุคลากร เป็นต้น

แนวคิดการจัดตั้งสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนำร่องเป็นหน่วยงานในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม

       สืบเนื่องจากสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมได้มีการจัดตั้งสำนักงานยุติธรรมจังหวัด(สยจ.) นำร่องขึ้นเป็นหน่วยงานในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม จำนวน 5 แห่งได้แก่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดปัตตานี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนในระดับภูมิภาคหรือระดับพื้นที่จังหวัดและบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด โดยได้มีการเกลี่ยอัตราว่างจากหน่วยงานในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมไปกำหนดเป็นตำแหน่งของสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนำร่องทั้ง 5 แห่งๆ ละ 5 อัตรา เพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติภารกิจต่อมาปัจจุบันกระทรวงยุติธรรมได้มีนโยบายในการพัฒนาสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนำร่องต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ทั้งในส่วนของสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนำร่องเดิม 5 แห่ง และการขยายผลโครงการจัดตั้งสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนำร่องเพิ่มเติม โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 กำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนำร่องเพิ่มเติม จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดนครปฐม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอุดรธานี เพื่อให้สอดคล้องตามภาคในกระบวนการยุติธรรม9ภาค และเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาสำนักงานยุติธรรมจังหวัดให้เป็นส่วนราชการตามกฎหมายบังเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วตลอดจนเพื่อเป็นกลไกระดับพื้นที่ในการนำนโยบายของรัฐบาลและการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมที่เกี่ยวข้องไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่จังหวัดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และประหยัดยิ่งขึ้น